ข้างเคียง

กระเบื้องพื้นแตก หลุดร่อน แก้ไขยังไงดี??

ก่อนอื่น เราต้องมาหาสาเหตุที่กระเบื้องแตก,หลุดร่อน หรือกระเด้งกันก่อน เพื่อที่จะแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆคือ

1. กระเบื้องหลุดเป็นแผ่นๆ เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก คือใช้ปูนผิดประเภท ,ปูนที่ใช้มีคุณภาพไม่เหมาะสม เช่น ใช้ปูนซีเมนต์ปูแทนปูนกาว, ใช้ปูนกาวแบบธรรมดา ทั้งๆทีเป็นการปูทับกระเบื้องเดิม, การปูแบบติดปูนใต้กระเบื้องเป็นจุดๆ ที่เรียกกันว่า ปูซาลาเปา
สาเหตุที่สอง คือการขยายและหดตัวของปูนใต้แผ่นกระเบื้อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน ส่วนมากจะเกิดในฤดูหนาว ที่อากาศตอนกลางวันร้อนจัด ตอนกลางคืนหนาวจัด ปูนใต้กระเบื้องจะขยายตัวเมื่อร้อน และหดตัวเมื่อเย็น ในขณะที่กระเบื้องไม่ยืดหด จึงเบียดและดันกันจนกระเด้ง หลุดออกมา

กระเบื้องแตก 4
2. กระเบื้องแตกตามมุมและหลุดบางส่วน เกิดขึ้นจากสาเหตุ มีช่องว่างใต้แผ่นกระเบื้อง เนื่องจากปูนใต้กระเบื้องไม่เต็ม ทำให้เมื่อรับน้ำหนัก กระเบื้องรับน้ำหนักไม่ไหวจึงแตกออกมาเป็นชิ้นๆ

กระเบื้องแตก 2
3. กระเบื้องแตกเป็นแนวยาว กรณีนี้ ควรรีบตรวจสอบ เนื่องจากอาจเกิดจากการทรุดตัวของพื้นบ้าน หรือการเอียงตัวของโครงสร้าง โดยในกรณีนี้ กระเบื้องอาจไม่หลุดออกมา แต่แตกต่อเนื่องเป็นแนวยาว ควรรีบแจ้งวิศวกรให้มาตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วน

กระเบื้องแตก 3

วิธีแก้ไข คือ
1. แกะกระเบื้องที่แตก ออกมาทั้งหมด ระวังไม่ไห้กระเบื้องแตกลามออกไป
2. ใช้ตะปู หรือสว่าน ตอกเอาปูนกาว หรือปูนทรายใต้กระเบื้องออกให้หมด
3. ก่อนปูให้พรมน้ำ ทำความสะอาดพื้นที่ สกัดพื้นให้ผิวหยาบเล็กน้อย กระเบื้องที่นำมาปูต้องแช่น้ำก่อน 2 ชั่วโมง
4. ใช้ปูนกาวทาใต้กระเบื้องแผ่นใหม่ และแบ่งบางส่วนทาที่พื้น หากปูกระเบื้องไม่ได้เพราะมีขนาดใหญ่เกินไป
ให้ใช้เครื่องเจียรขอบกระเบื้องออกก่อน ปูกระเบื้องโดยเว้นร่องยาแนวไว้ 2 มม.สำหรับกระเบื้องแกรนิตโต้ หรือกระเบื้องขอบเรียบ และ 3-5 มม.สำหรับกระเบื้องธรรมดา
5. ทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 1 วัน ระวังอย่าเดินเหยียบหรือวางสิ่งของทับ
6. ยาแนวขอบกระเบื้องด้วยยาแนวที่มีคุณภาพดี
7. ข้อแนะนำในการปูพื้น
7.1 สำหรับกระเบื้องขอบเรียบ, กระเบื้องแกรนิตโต้, กระเบื้องขอบตัด ควรเว้นช่องเผื่อการขยายตัวที่ริมผนัง อย่างน้อย 0.5 ซม. แล้วใช้บัวพื้นปิดช่องดังกล่าว
7.2 สำหรับบริเวณที่โดนแดดตลอดเวลา หรืออยู่ภายนอกบ้าน ควรปูกระเบื้องขนาดเล็ก เช่น 4×4นิ้ว หรือ 6×6นิ้ว เพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยทำให้กระเบื้องแผ่นใหญ่ที่มีร่องยาแนวน้อยกว่าแผ่นเล็ก จะหลุดร่อนได้ง่ายกว่ากระเบื้องขนาดเล็ก

ที่มารูปประกอบในบทความ : รวบรวมจากในเวบไซท์ พันทิบดอตคอม  ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพทุกๆคนครับ

หลัก 4 ข้อในการเลือกเสาเข็มสร้างบ้าน

หลัก 4 ข้อในการเลือกเสาเข็มสร้างบ้าน

หลัก 4 ข้อในการเลือกเสาเข็มสร้างบ้าน

การลงเสาเข็ม เป็นขั้นตอนแรกของการสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้าน และเป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อตัวบ้านในระยะยาว ดังนั้นการเลือกใช้เสาเข็มที่ผิดประเภท นอกจากทำให้บ้านมีปัญหาการทรุดตัว ,การแตกร้าวแล้ว ยังทำให้การซ่อมแซมในภายหลังต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นการเลือกใช้เสาเข็ม จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของบ้านไม่ควรมองข้าม วันนี้ผมสรุปหลัก 4 ข้อในการเลือกเสาเข็มสร้างบ้านให้ถูกต้องและคุ้มค่า มาให้คนที่กำลังจะสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้านได้เอาไปใช้กันครับ

1. สภาพดินและกำลังรับน้ำหนักของดิน : ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญ และเป็นตัวกำหนดความยาวของเสาเข็ม เสาเข็มที่อยู่ในชั้นดินอ่อน จะอาศัยแรงเสียดทานรอบผิวเสาเข็มเป็นตัวรับน้ำหนัก  และเสาเข็มที่อยู่บนชั้นดินแข็ง หรือชั้นทราย จะอาศัยการแบกรับน้ำหนักของปลายเสาเข็มที่อยู่บนชั้นดินแข็งหรือทรายแข็งนั้นเป็นตัวรับน้ำหนัก เป็นต้น

ข้อมูลสภาพชั้นดินนั้นสามารถสอบถามได้จากวิศวกรออกแบบ, หน่วยงานราชการท้องถิ่นแผนกโยธา หรือหากต้องการผลการทดสอบที่แม่นยำ ก็สามารถว่าจ้างบริษัทรับเจาะสำรวจดินเอกชน มาดำเนินการก็ได้ครับ

2. น้ำหนักที่เสาเข็มรับ : เสาเข็มแต่ละประเภทมีความสามารถรับน้ำหนักได้ต่างกัน เช่น เสาเข็มสั้น เสาเข็มตอก เสาเข็มเจาะ เป็นต้น  การคำนวณน้ำหนักที่เสาเข็มแต่ละต้นต้องแบกรับนั้น วิศวกรออกแบบ จะคำนวณและกำหนดประเภทของเสาเข็ม รวมถึงความยาวของเสาเข็มที่ต้องใช้

ยกตัวอย่างเช่น บ้าน 2 ชั้น ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าบ้านชั้นเดียว เสาเข็มรับบ้าน 2 ชั้น ก็ต้องสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าเสาเข็มบ้านชั้นเดียว เป็นต้น ขั้นตอนนี้วิศวกรออกแบบจะเป็นคนกำหนดครับ

images (4)

3. สภาพพื้นที่การก่อสร้าง : ในบางครั้งสภาพพื้นที่การก่อสร้างก็เป็นตัวกำหนดประเภทของเสาเข็ม เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถขนส่งเอาเสาเข็มตอก ขนาดยาวเข้าไปได้ ก็ต้องเปลี่ยนจากเสาเข็มตอกเป็นเสาเข็มเจาะ ,บางพื้นที่การต่อเติมมีพื้นที่แคบมาก ไม่สามารถใช้เสาเข็มเจาะได้ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเสาเข็มไม่โครไพล์ขนาดเล็ก หรือบางพื้นที่การใช้เสาเข็มแบบตอก อาจทำให้บ้านข้างเคียงแตกร้าวได้ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเสาเข็มแบบเจาะแทน เป็นต้น

images (3)

4. งบประมาณ : เสาเข็มแต่ละประเภท ก็มีราคาและค่าติดตั้งแตกต่างกันไป โดยปกติการก่อสร้างหรือต่อเติมบ้าน วิศวกรออกแบบจะต้องแจ้งว่า เสาเข็มที่สามารถเลือกใช้ได้มีอะไรบ้าง มีคุณสมบัติและราคาแตกต่างกันอย่างไร เช่น เสาเข็มแบบตอก, เสาเข็มแบบเจาะ หรือเสาเข็มไมโครไพล์ เป็นต้น ทางเจ้าของบ้านเอง ก็ควรพิจารณาข้อดี ข้อเสียให้ดีและรอบคอบ อย่าเลือกเพียงเพราะราคาถูกกว่า เพราะหากเกิดปัญหาในภายหลัง การซ่อมแซมจะมีค่าใช้จ่ายสูง